ข้างขึ้น-ข้างแรม


การที่เราเห็นดวงจันทร์มีรูปร่างต่างกันออกไปในแต่ละวันนั้นเราเรียกว่า ดิถี หรือ เฟส หรือ การเกิดข้างขึ้นข้างแรม ของดวงจันทร์ (lunar phase) เกิดจากการที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลกทำมุมระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ที่ต่างกันออกไป ทำให้เรา(ที่อยู่บนโลก)สังเกตเห็นดวงจันทร์มีส่วนที่สว่างที่ไม่เท่ากันในแต่ละคืน โดยที่คาบเวลาของการโคจรรอบโลกของดวงจันทร์เป็น 29.5 วัน เราจึงเห็นดวงจันทร์มีรูปร่างเหมือนเดิมทุกๆ 29.5 วันนั่นเอง เช่นเราจะเห็นดวงจันทร์เต็มดวง(หรือจันทร์วันเพ็ญ)ทุกๆ 29.5 วัน (หรือคิดง่ายๆคือประมาณ 30 วัน)



 

  • เราแบ่งดิถีของดวงจันทร์ตามที่เรามองเห็นได้ดังนี้

เดือนมืด (New Moon) ตรงกับแรม 15 ค่ำ (บางเดือนอาจเป็นแรม 14 ค่ำ) เป็นตำแหน่งที่ดวงจันทร์อยู่ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ หรือดวงจันทร์อยู่หน้าดวงอาทิตย์นั่นเอง ในวันนี้ดวงจันทร์จะหันด้านมืดเข้าหาโลกดังนั้นเราจะมองไม่เห็นดวงจันทร์ เราจึงเรียกว่าคืนเดือนมืด หรือ จันทร์ดับ ในความเป็นจริงในวันเดือนมืดตำแหน่งของดวงจันทร์จะอยู่กลางศีรษะเราพอดีในเวลาประมาณเที่ยงวัน แต่เราจะไม่เห็นดวงจันทร์เนื่องจากดวงจันทร์หันด้านมืดเข้าหาโลกและแสงจากดวงอาทิตย์มีความสว่างมาก

 

คืนเดือนมืด ดวงจันทร์อยู่ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ภาพดวงจันทร์ที่มองเห็น


วันเพ็ญ (Full Moon) ตรงกับขึ้น 15 ค่ำ เป็นตำแหน่งที่ดวงจันทร์อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ โดยแสงจากดวงอาทิตย์จะตั้งฉากกับดวงจันทร์พอดี ในวันนี้ดวงจันทร์จะหันด้านสว่างเข้าหาโลกดังนั้นเราจะมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวง โดยเห็นดวงจันทร์ปรากฏที่ขอบฟ้าตะวันออกตั้งแต่เวลาประมาณ 6 โมงเย็น และตกที่ขอบฟ้าตะวันตกตอน 6 โมงเช้าของอีกวันหนึ่ง โดยดวงจันทร์จะอยู่กลางศีรษะพอดีที่เวลาเที่ยงคืน

 

คืนวันเพ็ญ ดวงจันทร์อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ภาพดวงจันทร์ที่มองเห็น


ข้างขึ้น (Waxing) เป็นช่วงที่เกิดขึ้นระหว่างคืนเดือนมืดจนถึงคืนวันเพ็ญ โดยมีด้านเสี้ยวสว่างของดวงจันทร์หันไปด้านทิศตะวันตก ซึ่งแบ่งออกเป็นสามช่วงดังนี้

  • ช่วง 1-7 วันหลังจากคืนเดือนมืด หรือตั้งแต่ ขึ้น 1 ค่ำจนกระทั่งขึ้น 7 ค่ำ เราจะเห็นดวงจันทร์เป็นเสี้ยวสว่างตั้งแต่เสี้ยวบางๆ ในขึ้น 1 ค่ำ จนกระทั่งสว่างประมาณครึ่งดวงในขึ้น 7 ค่ำ ซึ่งในภาษาอังกฤษจะเรียกช่วงนี้ว่า Waxing Crescent ในช่วงนี้เราจะเห็นดวงจันทร์ตกที่ขอบฟ้าตะวันตกในช่วงหัวค่ำ (6 โมงเย็น ถึงเที่ยงคืน)

ข้างขึ้นตั้งแต่ ขึ้น 1 ค่ำจนกระทั่งขึ้น 7 ค่ำ ภาพดวงจันทร์ที่มองเห็น


  • ในวันที่ 8 เราจะเห็นดวงจันทร์ครึ่งดวงเป็นครั้งแรก หรือตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำ ภาษาอังกฤษเรียกวันนี้ว่า First Quater เป็นวันที่ดวงจันทร์ทำมุมกับโลกและดวงอาทิตย์ 90 องศา โดยดวงจันทร์จะเริ่มปรากฏที่ขอบฟ้าตะวันออกที่เวลาเที่ยงวัน และตกที่ขอบฟ้าตะวันตกที่เวลาประมาณเที่ยงคืน

ข้างขึ้น ขึ้น 8 ค่ำ ภาพดวงจันทร์ที่มองเห็น


  • ช่วงวันที่ 9-14 หรือตั้งแต่ ขึ้น 9 ค่ำจนกระทั่งขึ้น 14 ค่ำ เราจะเห็นดวงจันทร์ด้านสว่างที่ค่อนข้างใหญ่คือมากกว่าครึ่งหนึ่งไปจนถึงเกือบเต็มดวง(ในวันขึ้น 14 ค่ำ) ซึ่งในภาษาอังกฤษจะเรียกช่วงนี้ว่า Waxing Gibbous ในช่วงนี้ดวงจันทร์จะเริ่มปรากฏที่ขอบฟ้าตะวันออกที่หลังเวลาเที่ยงวัน และตกที่ขอบฟ้าตะวันตกหลังเวลาเที่ยงคืน

ข้างขึ้นตั้งแต่ ขึ้น 9 ค่ำจนกระทั่งขึ้น 14 ค่ำ ภาพดวงจันทร์ที่มองเห็น


ข้างแรม (Waning) เป็นช่วงที่เกิดขึ้นระหว่างคืนวันเพ็ญจนถึงคืนเดือนมืด โดยมีด้านเสี้ยวสว่างของดวงจันทร์หันไปด้านทิศตะวันออก ซึ่งแบ่งออกเป็นสามช่วงเช่นเดียวกันกับข้างขึ้นดังนี้

  • ช่วง 1-7 วันหลังจากคืนวันเพ็ญ หรือตั้งแต่ แรม 1 ค่ำจนกระทั่งแรม 7 ค่ำ เราจะเห็นดวงจันทร์ด้านสว่างที่ค่อนข้างใหญ่คือตั้งแต่เกือบเต็ม(แรม 1 ค่ำ) จนไปถึงครึ่งดวง(แรม 7 ค่ำ) ซึ่งในภาษาอังกฤษจะเรียกช่วงนี้ว่า Waning Gibbous ในช่วงนี้ดวงจันทร์จะเริ่มปรากฏที่ขอบฟ้าตะวันออกที่หลังเวลา 6 โมงเย็น และตกที่ขอบฟ้าตะวันตกหลังเวลา 6 โมงเช้า

ข้างแรมตั้งแต่ แรม 1 ค่ำจนกระทั่งแรม 7 ค่ำ ภาพดวงจันทร์ที่มองเห็น


  • ในวันที่ 8 เราจะเห็นดวงจันทร์ครึ่งดวงเป็นครั้งที่สอง หรือตรงกับวันแรม 8 ค่ำ ภาษาอังกฤษเรียกวันนี้ว่า Last Quater เป็นวันที่ดวงจันทร์ทำมุมกับโลกและดวงอาทิตย์ 90 องศา โดยดวงจันทร์จะเริ่มปรากฏที่ขอบฟ้าตะวันออกที่เวลาเที่ยงคืน และตกที่ขอบฟ้าตะวันตกที่เวลาประมาณเที่ยงวัน โดยมีด้านมืดและด้านสว่างของดวงจันทร์ในคืนแรม 8 ค่ำนี้ จะอยู่สลับกันกับคืนวันขึ้น 8 ค่ำ

ข้างแรม แรม 8 ค่ำ ภาพดวงจันทร์ที่มองเห็น


  • ช่วงวันที่ 9-14 (หรือ 9-13) หรือตั้งแต่ แรม 9 ค่ำจนกระทั่งแรม 14 ค่ำ(หรือแรม 13 ค่ำ) เราจะเห็นดวงจันทร์ด้านสว่างน้อยกว่าครึ่งดวง ซึ่งในภาษาอังกฤษจะเรียกช่วงนี้ว่า Waning Crescent ในช่วงนี้ดวงจันทร์จะเริ่มปรากฏที่ขอบฟ้าตะวันออกที่หลังเวลาเที่ยงคืน และตกที่ขอบฟ้าตะวันตกหลังเวลาเที่ยงวัน

ข้างแรม ตั้งแต่ แรม 9 ค่ำจนกระทั่งแรม 14 ค่ำ(หรือแรม 13 ค่ำ) ภาพดวงจันทร์ที่มองเห็น

Leave a comment